Microsoft เตรียมปล่อยแพทช์ Windows 10 ปรับหน้าเมนูใหม่

Microsoft ได้เปิดตัว Windows 10 รุ่นทดสอบตัวใหม่ ซึ่งเผยให้เราเห็นหน้าเมนูแบบ Start ที่เปลี่ยนไปจากเดิม โดย Windows 10 ตัวนี้จะเป็น build 18947 ที่สำหรับนักพัฒนาให้ใช้ทดสอบกันก่อน ซึ่งในหน้าเมนู Start จะตัด Live Tiles ออกทั้งหมด แทนที่ด้วยไอคอนแอพของ Windows ที่มีติดครั้งไว้แทน แถมเพิ่มเครื่องมือค้นหาด้วย GIF และ Emoji ได้ด้วย

โดยการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ยังทดสอบเฉพาะบนระบบ 32 บิตเท่านั้น ซึ่งผู้ที่ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้แล้วก็บ่นอุบกันใหม่ว่าอยากกลับไปใช้ Live Tiles เหมือนเดิมที่เราสามารถเลือกโปรแกรม จัดวางเลเอาท์ด้วยตัวเองได้มากกว่าฟิคแอพแบบนี้นั่นเอง

Windows 10 เรียก localhost ได้แล้ว

Windows Subsystem for Linux หรือ WSL เวอร์ชัน 2 ถือเป็นฟีเจอร์ใหญ่ของ Windows 10 รุ่นล่าสุด (จะมาในเวอร์ชัน 20H1) การเปลี่ยนแปลงสำคัญคือมันเป็นลินุกซ์ที่ใช้เคอร์เนลตัวเต็ม ทำให้ได้ฟีเจอร์ต่างๆ เทียบเท่ากับดิสโทรลินุกซ์จริงๆ ที่รันอยู่ใน Windows 10 อีกทีผ่าน VM

ล่าสุดไมโครซอฟท์เพิ่มฟีเจอร์ให้ WSL 2 ใน Build 18945 ให้ฝั่ง Windows สามารถเข้าถึง WSL 2 ภายในเครื่องเดียวกัน ด้วยการเรียก localhost แทนการระบุ IP แบบเดิม นั่นแปลว่าเราสามารถโฮสต์เซิร์ฟเวอร์ใน WSL 2 แล้วใช้เบราว์เซอร์พิมพ์ localhost เพื่อเข้าใช้งานได้ทันที โดยที่ไม่ต้องตั้งค่าอะไรเพิ่มเลย

No Description

ของใหม่อย่างอื่นของ WSL 2 ได้แก่

  • เพิ่มไฟล์คอนฟิก .wslconfig ในโฟลเดอร์ C:\Users\\ เพื่อตั้งค่าของ WSL 2 แบบ global configuration (มีผลต่อทุกดิสโทรที่เราติดตั้ง)
  • เปิดให้ติดตั้งเคอร์เนลของ WSL 2 ได้เอง (นอกเหนือจากเคอร์เนลลินุกซ์ที่มากับ WSL 2) โดยกำหนดพาธได้จากไฟล์ .wslconfig ได้เช่นกัน
    ผู้ที่สนใจใช้งาน จำเป็นต้องใช้กับ Windows Insider กลุ่ม Fast Ring ซึ่งเป็นตัวทดสอบของ Windows 10 20H1 ที่จะออกในปีหน้า

Windows 10 เวอร์ชัน Internal-Only ใช้ทดสอบภายในเท่านั้น

Microsoft ปล่อย Windows 10 เวอร์ชัน Internal-Only ใช้ทดสอบภายในเท่านั้น ให้กับผู้ใช้ Windows Insider 32-bit ภายหลังถูกนำออกไปทันทีที่รู้ตัว Windows 10 เวอร์ชัน Internal-Only Build 18947 หลุดออกมาให้กับผู้ใช้ที่สมัคร Windows Insider ซึ่งก็พบว่ามีหลาย ๆ สิ่งเปลี่ยนไป โดยเฉพาะ Start Menu ที่เปลี่ยนไปใหม่ ทำให้คาดกันว่าจะถูกนำมาใช้ในเร็ว ๆ นี้ สิ่งที่ต่างไปจาก Start Menu ในปัจจุบันที่เห็นได้ชัดนั้น Live Tiles ที่หายไป

นอกจากนี้ยังมีเครื่องมือค้นหา GIF เพิ่มขึ้นมาใน Emoji Picker อีกด้วย โดยภายหลังจากที่ Build นี้หลุดออกมานั้น Microsoft ได้ออกมาแถลงว่าคือความผิดพลาดและได้นำตัวอัปเดตนี้ออกไปทันที

แจ้งการปรับพื้นที่ว่างขั้นต่ำของ Windows 10 May 2019 Update (v1903)

จากข่าวเก่าเมื่อเดือนเมษายนที่ไมโครซอฟท์ได้แจ้งการปรับพื้นที่ว่างขั้นต่ำของ Windows 10 May 2019 Update (v1903) เพิ่มเป็น 32 GB ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่ออุปกรณ์ Windows เดิมที่มีสตอเรจไม่เพียงพอ โดยไม่ได้การชี้แจงในประเด็นนี้แต่อย่างใด

ล่าสุดได้มีประกาศจากไมโครซอฟท์ที่ให้ความชัดเจนในเรื่องดังกล่าวแล้ว โดยได้ระบุว่า

การปรับสเปกพื้นที่ว่างขั้นต่ำสำหรับ Windows 10 v1903 นั้นจะมีผลกับผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ (OEM) ที่ผลิตพีซีใหม่เท่านั้น และจะไม่กระทบกับอุปกรณ์เดิมแต่อย่างใด พีซีเครื่องใดที่มีพื้นที่ว่างไม่เพียงพอตามสเปกใหม่ จะยังได้รับอัพเดตใหม่รวมถึงอัพเดตเวอร์ชัน 1903 ต่อไป โดยจะใช้พื้นที่ว่างเท่ากันกับอัพเดตเวอร์ชันก่อนๆ

No Description

ดังนั้นผู้ใช้ Windows 10 ปัจจุบัน ที่มีพื้นที่ว่างเหลือเพียงพอตามสเปกเก่า (16GB สำหรับ Windows 32 บิท หรือ 20GB สำหรับ Windows 64 บิท) ก็จะยังได้รับอัพเดตต่อไป ไม่ต้องเคลียร์พื้นที่ฮาร์ดดิสก์เพิ่มเพื่อรับอัพเดต v1903

ไมโครซอฟท์แพลนจะยกเลิกการล็อกอิน Windows 10

การตั้งพาสเวิร์ดของผู้ใช้น่าจะเป็นหนึ่งในปัญหาที่น่าปวดหัว สำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องไอทีด้านความปลอดภัย ล่าสุดไมโครซอฟท์เลยกำลังแพลนจะยกเลิกการล็อกอิน Windows 10 ด้วยพาสเวิร์ดและอาศัย Windows Hello หรือ PIN แทน

ไมโครซอฟท์เคยแย้งเอาไว้ด้วยว่า PIN มีความปลอดภัยมากกว่า เพราะความเป็นตัวเลข (ไม่ใช่ตัวหนังสือที่รวมเป็นคำ) รวมถึงตัว PIN จะถูกเก็บอยู่ใน TPM บนเครื่องด้วย

ขณะที่ฝั่งองค์กรไมโครซอฟท์ก็พยายามผลักดันแบบเดียวกัน โดยจะเน้นให้ใช้งานระบบยืนยันตัวตน 2 ขั้นด้วย ไม่ว่าจะผ่านกุญแจ FIDO หรือ Microsoft Authenticator ก็ตาม อย่างล่าสุดก็เพิ่งปล่อยฟีเจอร์ล็อกอินไม่ใช้รหัสผ่านบน Azure AD

ประกาศปล่อยอัพเดตของ Windows 10 May 2019 Update แล้ว

ไมโครซอฟท์เปิดตัว Windows 10 v1903 มาตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน แต่ขอเวลาทดสอบนานเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันปัญหาแบบเดียวกับ v1809 และจะปล่อยไฟล์อัพเดตในช่วงเดือนพฤษภาคม 2019 โดยใช้ชื่อว่า Windows 10 May 2019 Update ตามชื่อเดือนที่ปล่อยอัพเดต (แม้จะพัฒนาเสร็จมาตั้งแต่เดือนมีนาคมก็ตาม)

วันนี้ไมโครซอฟท์ประกาศปล่อยอัพเดตของ Windows 10 May 2019 Update แล้ว ผู้ใช้สามารถกดเช็คได้จากหน้า Settings > Update ได้ตามปกติ ส่วนผู้ใช้กลุ่มองค์กรก็ดาวน์โหลดได้จากช่องทางของตัวเอง ทั้ง Windows Server Update Services (WSUS), Windows Update for Business และ Volume Licensing Service Center (VLSC)

No Description

ไมโครซอฟท์ยังเปิดหน้าเว็บ Windows health dashboard เพื่อแสดงสถานการณ์ของ Windows แต่ละรุ่นว่ามีรายงานบั๊กไหนเข้ามาบ้าง และสถานะของบั๊กนั้นเป็นอย่างไร เพื่อให้ผู้ใช้เข้ามาตรวจเช็คได้ว่าเจอปัญหาเดียวกับที่ไมโครซอฟท์กำลังแก้ไขอยู่หรือไม่

ของใหม่ที่สำคัญใน Windows 10 v1903 ได้แก่ ธีมสีสว่างตัวใหม่ (light theme), แยกกล่อง Search/Cortana ออกจากกัน, Windows Sandbox สำหรับรันแอพที่ไม่ปลอดภัย (Home ใช้ไม่ได้), เพิ่มฟีเจอร์ให้ Notepad, เพิ่มฟีเจอร์ให้ Command Prompt, Windows Update สามารถหยุดพักการอัพเดตได้

No Description

No Description

 

No Description

Windows Core OS ระบบปฏิบัติการยุคใหม่

ข่าวของ Windows Core OS ระบบปฏิบัติการตัวแกนหลักของไมโครซอฟท์ ซึ่งเป็นการนำแกนของ Windows 10 ไปรันบนอุปกรณ์หลายๆ ประเภท (รวมถึง Surface Phone หรืออุปกรณ์พกพาชนิดใหม่ที่ลือกันมานาน)

ไมโครซอฟท์ไม่เคยพูดถึงชื่อ Windows Core OS ออกมาตรงๆ แต่ประกาศของไมโครซอฟท์ในงาน Computex 2019 ก็ได้เอ่ยถึง “ระบบปฏิบัติการยุคใหม่” (ใช้คำว่า modern OS) ที่ต้องมีคุณสมบัติดังนี้

  • seamless update อัพเดตระบบปฏิบัติการเบื้องหลังโดยผู้ใช้ไม่ต้องรู้ตัว และไม่ขัดจังหวะการทำงานของผู้ใช้
  • secure by default ปลอดภัย แยกส่วนของระบบปฏิบัติการออกจากแอพพลิเคชัน หากถูกโจมตีก็ไม่กระทบ
  • always connected ต่อเชื่อมอินเทอร์เน็ตตลอดเวลาผ่าน Wi-Fi, LTE, 5G
  • sustained performance หยิบมาใช้ต้องพร้อมใช้งานทันที และแบตเตอรี่ใช้ได้นานจนไม่ต้องพะวง
  • cloud connected เชื่อมโยงพลังประมวลผลจากคลาวด์
  • AI คาดเดาล่วงหน้าว่าผู้ใช้จะต้องทำอะไรในอนาคต
  • multi-sense รองรับอินพุตหลากหลาย ปากกา เสียง สัมผัส นัยน์ตา คีย์บอร์ด เมาส์
  • form factor agility ใช้งานกับอุปกรณ์ได้หลากหลายประเภท

ไมโครซอฟท์บอกว่านี่คือวิสัยทัศน์ที่ต้องการไปให้ถึง โดยจะลงทุนพัฒนาคุณสมบัติเหล่านี้อย่างต่อเนื่องให้บรรลุเป้าหมาย

แอพYour Phone ของ Windows 10 ซิงก์กับ Android ได้แล้ว

หลังจากไมโครซอฟท์แพ้สงครามสมาร์ทโฟน ทางออกเดียวที่เหลืออยู่คือ “เข้าร่วม” และใน Windows 10 v1809 เมื่อปีที่แล้ว ก็เพิ่มฟีเจอร์ Your Phone ให้พีซีสามารถซิงก์ข้อมูล (บางอย่าง) กับสมาร์ทโฟนได้

 

Your Phone เวอร์ชันแรกยังมีความสามารถน้อย รองรับเฉพาะการซิงก์รูปภาพและ SMS เท่านั้น แต่หลังจากเวลาผ่านมาเกือบปี ไมโครซอฟท์ก็เพิ่มฟีเจอร์ให้ Your Phone สามารถซิงก์ข้อความ notification จากสมาร์ทโฟน (รองรับเฉพาะ Android) มาดูบนพีซีได้แล้ว และถ้าปัดทิ้งบนพีซี ข้อความแจ้งเตือนบนสมาร์ทโฟนก็จะหายไปด้วย

ฟีเจอร์นี้ต้องใช้กับ Windows 10 v1803 เป็นต้นไป และอัพเดตแอพ Your Phone เป็นเวอร์ชันล่าสุด

Windows 10 20H1เพิ่มฟีเจอร์ Eye Control ใช้นัยน์ตาควบคุมและสั่งงาน

ไมโครซอฟท์ออก Windows 10 Insider Preview Build 18932 (20H1) รุ่นทดสอบที่จะออกตัวจริงในปีหน้า (รุ่น 19H2 ที่จะออกปลายปีนี้จะไม่มีฟีเจอร์ใหม่มากนัก เน้นปรับปรุงประสิทธิภาพ)

ของใหม่ใน Build 18932 คือฟีเจอร์ Eye Control ใช้นัยน์ตาควบคุมและสั่งงาน (ต้องใช้ร่วมกับอุปกรณ์ eye tracking) ซึ่งไมโครซอฟท์เริ่มรองรับมาตั้งแต่ปี 2017 แต่เพิ่มความสามารถขึ้นจากเดิม โดยเฉพาะการทำ drag-and-drop ใช้นัยน์ตาลากวัตถุแล้วมาวางได้แบบเดียวกับการใช้เมาส์ (ผู้ใช้สามารถกดปุ่ม Ctrl/Shift บนคีย์บอร์ดช่วยได้ด้วย)

Image result for Eye Control

ฟีเจอร์ Eye Control เน้นใช้กับผู้พิการหรือมีปัญหาในการใช้อินพุตประเภทอื่นๆ เป็นหลักซึ่งรอบนี้ไมโครซอฟท์ก็ปรับปรุงให้ Eye Control ทำงานได้ดีขึ้นจากความเห็นของผู้ใช้ในเวอร์ชันก่อนๆ

ของใหม่อีกอย่างใน Build 18932 คือปรับหน้าจอตั้งค่า Notification อีกเล็กน้อย ให้ผู้ใช้สามารถปิดเสียงการแจ้งเตือนได้จากหน้าจอนี้เลย (ไม่ต้องเข้าหน้า Sound แยกต่างหาก) และสามารถดูรายชื่อแอพได้ว่ามีแอพไหนบ้างส่งการแจ้งเตือนมาหาเรา โดยเลือกดูจากลำดับของข้อความล่าสุดได้

พบบั๊กแปลกๆ ใน Windows 10 เวอร์ชัน 1809

มีรายงานว่าพบบั๊กแปลกๆ ใน Windows 10 เวอร์ชัน 1809 (October 2018 Update) ว่าหากเสียบหรือถอดอุปกรณ์ USB-C ระหว่างชัตดาวน์หรือเข้าโหมดสลีป อาจกินเวลานานกว่าปกติ

ไมโครซอฟท์ระบุในบล็อกว่าบั๊กดังกล่าวเกิดจากซอฟต์แวร์ USB Type-C Connector System Software Interface (UCSI) ของอินเทลใน Windows 10 เวอร์ชัน 1809 ว่าหากผู้ใช้เสียบหรือถอดอุปกรณ์ที่พอร์ต USB-C เช่น docking station หรือสายชาร์จ ระหว่างการชัตดาวน์หรือสลีป อาจทำให้ขั้นตอนนี้กินเวลานานขึ้นถึง 60 วินาที

อย่างไรก็ตามไมโครซอฟท์ยืนยันว่าบั๊กนี้ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบด้านการใช้งานอุปกรณ์นั้นๆ แต่อย่างใด และพีซีกับอุปกรณ์นั้นๆ ควรทำงานได้ตามปกติเมื่อเปิดเครื่องขึ้นมา

บั๊กนี้ได้รับการแก้ไขแล้วใน Windows 10 เวอร์ชัน 1903 ที่เพิ่งปล่อยออกมาเดือนที่แล้ว หรือหากใครยังไม่อัพเดตแล้วเจอปัญหาข้างต้น ก็แค่อย่าเสียบหรือถอดอุปกรณ์ USB-C ตอนชัตดาวน์หรือสลีปก็พอ